ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ‘ร้องกวาง’ ของ อ.อ.ป. ที่นี่! เป็นมากกว่าแหล่งเรียนรู้
ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ แห่งนี้ ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 195.73 ล้านบาท โดยเป็นงบอุดหนุนจากรัฐบาล 185.09 ล้านบาท และเป็นงบประมาณของ อ.อ.ป. 10.64 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านการผลิตผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก อีกทั้ง อ.อ.ป.ยังมองเห็นถึงความสำคัญด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะในส่วนของการผลิต โดย อ.อ.ป. ช่วยพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์/เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก และบรรจุภัณฑ์ให้มีมาตรฐานระดับสากล สามารถที่จะแข่งกับตลาดภายนอก และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ในการจำหน่ายสินค้าไม้สักให้แก่ ผู้ประกอบการ ประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงยังสามารถช่วยแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าต่อไปอีกด้วย
นอกจากนั้น ที่นี่! ยังนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น
มาประยุกต์ใช้ร่วมกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย สู่ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นสะท้อนความเป็นไทย
มีการพัฒนาธุรกิจชุมชนในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด
นอกจากนี้การนำเครื่องจักรที่ทันสมัยมาช่วยในการแปรรูปสามารถทำให้ใช้วัตถุดิบไม้สักไม่สิ้นเปลือง
ซึ่งทางศูนย์การถ่ายทอดฯ ยังมี “เครื่องเลื่อยไม้อัตโนมัติ”
ที่มีศักยภาพในการช่วยการลดระยะเวลาการผลิตให้น้อยลง
และชิ้นส่วนเศษไม้ ปีกไม้ ที่เหลือจากการแปรรูปแล้ว ทางศูนย์การถ่ายทอดฯ นำมาอัดประสานแบบนิ้วมือ (Finger Joint) เป็นการนำไม้มาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าและได้ประโยชน์สูงสุดสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ต่อไป
ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ผ่านมา “ศูนย์การถ่ายทอดฯ” ของ อ.อ.ป. เปิดให้บริการและจัดอบรมให้แก่ นักศึกษา ประชาชนที่สนใจ ช่างฝีมืองานไม้ ผู้ประกอบการ และสหกรณ์ผลิตภัณฑ์ไม้ เข้ามาเรียนรู้และพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง และให้บริการจำหน่ายไม้แปรรูปในการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องเรือน และก่อสร้างบ้านเรือน ซึ่งขณะนี้ อ.อ.ป. ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายในการฝึกอบรมไปยังกลุ่มชุมชนในพื้นที่ละแวกข้างเคียงในจังหวัดแพร่และตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อที่จะส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไม้สักจากป่าปลูก และรองรับไม้สักจากป่าปลูกจากภาคเอกชนอีกด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น